Bboo0811

      หัวข้อข่าว “คุกกี้รันเงินแสน” อ่านข่าวทั้งหมด
 

 
ข่าวใหญ่วงการในรอบสัปดาห์นี้คงหนีไม่พ้นประเด็นเกม Cookie Run ที่เด็กเล่นเกมแล้วโดนคิดเงินหลักแสน ซึ่งเกิดขึ้นหลายกรณีในช่วงไล่เลี่ยกัน

ผมคิดว่ากรณีนี้น่าสนใจมาก และอยากเขียนถึงเรื่องนี้สักหน่อย โดยจะพยายามอธิบายกระบวนการเบื้องหลังที่เกิดขึ้นให้เข้าใจง่ายที่สุดครับ

ปัญหา “คุกกี้รันเงินแสน” ที่เรากำลังตื่นตัวกันอยู่นี้ มีผู้เกี่ยวข้องด้วยกันทั้งหมด 4 ฝ่าย ดังนี้

1. ลูกค้า ตัวผู้ใช้มือถือเองที่เล่นเกมไม่ระวังจนเกิดปัญหา
2. โอเปอเรเตอร์หรือผู้ให้บริการโทรศัพท์ ซึ่งในกรณีข่าวนี้คือ AIS
3. ร้านขายแอพฯ บนมือถือ ในข่าวคือ Google Play ของกูเกิล เพราะอยู่บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์
4. ตัวแอพฯ หรือบริการเอง ในที่นี้คือเกม Cookie Run ของบริษัท LINE Corporation

ตัวเกม Cookie Run เป็นเกมฟรีที่ทุกคนสามารถดาวน์โหลดได้จากร้าน Google Play ของกูเกิล แต่ LINE ในฐานะผู้สร้างเกมก็มีโมเดลธุรกิจคือการขาย “ไอเทม” หรือสินค้าภายในเกมที่ช่วยให้เล่นเกมได้เก่งขึ้นง่ายขึ้น

การจ่ายเงินซื้อไอเทมในเกมมีด้วยกันหลายแบบ แต่โดยทั่วไปแล้ว “ร้านค้า” อย่างกูเกิล (หรือแอปเปิล/ไมโครซอฟท์ในกรณีใช้มือถือค่ายอื่น) จะเข้ามาจัดการตรงนี้ให้ผู้สร้างแอพฯ เมื่อผู้ใช้กดซื้อไอเทมในเกม เราจะถูกกดเข้าไปยังหน้ายืนยันคำสั่งซื้อของกูเกิล ซึ่งคนที่หักเงินเราด้วยวิธีการต่างๆ (เช่น บัตรเครดิต, PayPal หรือถ้าเป็นต่างประเทศก็จะมีบัตรเติมเงิน Google Play วางขายตามร้านสะดวกซื้อทั่วไปด้วย)

สมมติว่าลูกค้าเลือกจ่ายด้วยบัตรเครดิต คนที่หักเงินลูกค้าคือกูเกิล จากนั้นกูเกิลค่อยโอนเงินให้ LINE หรือผู้สร้างแอพฯ อีกทอดหนึ่ง โดยหักค่าใช้จ่ายจำนวนหนึ่ง (เวลาบิลบัตรเครดิตมาเรียกเก็บ จึงขึ้นชื่อคนขายว่าเป็นกูเกิล)

ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากวิธีการคิดเงิน “แบบหนึ่ง” ของ Google Play ที่เรียกว่า Carrier Billing หรือการหักเงินจากโอเปอเรเตอร์ครับ

วิธี Carrier Billing ถูกคิดขึ้นเพื่อใช้กับประเทศที่คนไม่ค่อยใช้บัตรเครดิตหรือเงินอิเล็กทรอนิกส์แบบอื่นๆ แต่คุ้นเคยกับการจ่ายเงินผ่านโอเปอเรเตอร์มือถือ รูปแบบก็คล้ายกับการดาวน์โหลดเพลงหรือริงโทนสมัยก่อน คือหักจากยอดเงินในบัญชีมือถือ (ถ้าเป็นพรีเพด) หรือคิดเป็นส่วนหนึ่งของค่าบริการรายเดือน (ถ้าเป็นแบบโพสต์เพด)

ตอนนี้บ้านเรายังมี AIS เป็นโอเปอเรเตอร์เพียงรายเดียวที่สามารถหักเงิน Carrier Billing กับกูเกิลได้ (Dtac ก็มีข่าวว่าจะทำแต่ยังเจรจากันไม่ลงตัว)

การจ่ายเงินแบบ Carrier Billing ถือเป็นวิธีการจ่ายเงินที่ดีมากแบบหนึ่งเพราะสะดวกสำหรับผู้ใช้ที่ไม่มีบัตรเครดิต แต่กรณีนี้ปัญหาบังเกิดเพราะผู้ใช้กดซื้อของในเกม “แล้วไม่รู้ตัว” ว่าถูกหักเงินแบบ Carrier Billing ครับ พอบวกกับการที่ Cookie Run กำลังเป็นเกมยอดฮิตในหมู่เด็กๆ เล่นกันทั้งวันทั้งคืน เล่นแข่งกับเพื่อนๆ ได้ด้วยทำให้สนุกขึ้นหลายเท่า จึงเกิดสภาวะ “กดซื้อไอเทมกระหน่ำ” โดยที่อาจไม่รู้ว่าโดนหักเงิน

ตามปกติแล้ว การซื้อของผ่าน Google Play จะมีใบเสร็จให้เสมอ (ไม่ว่าจำนวนเงินจะมากหรือน้อยแค่ไหนก็ตาม) โดยส่งทางอีเมลมาให้ สำหรับกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ผมไม่เห็นหลักฐานโดยตรงแต่เข้าใจว่า “ได้เมลแต่ไม่อ่าน” จะด้วยเหตุผลว่าเป็นเด็ก อ่านไม่ออก หรือไม่สนใจ อันนี้ก็แล้วแต่จะพิจารณา

ผมคิดว่าปัญหานี้คงต้องแก้ไขกัน 2 ส่วน

อย่างแรกเลย โอเปอเรเตอร์อย่าง AIS เองต้องมีระบบจำกัดวงเงิน (เพื่อจำกัดความเสียหาย) และระบบแจ้งเตือนการหักเงินทาง SMS (ที่คนน่าจะอ่านง่ายกว่าทางอีเมล) ตรงนี้โอเปอเรเตอร์มีบทเรียนมาเยอะ เจ็บมาเยอะ จากปัญหาโรมมิ่งข้ามประเทศ การทำระบบแบบนี้จึงไม่น่าจะยากอะไรนัก (และตามข่าวที่ AIS แถลงก็บอกว่ากำลังเร่งทำอยู่) ผมคิดว่ากรณีนี้สาเหตุคงเป็นเพราะการคิดเงินผ่าน Google Play เป็นบริการใหม่ที่ยังไม่ทันทำระบบป้องกันไว้ แต่เกิดปัญหาใหญ่ขึ้นเสียก่อน

อย่างที่สอง พ่อแม่ผู้ปกครองเองก็ต้องเรียนรู้เรื่องการจ่ายเงินออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือด้วยเช่นกัน จะอ้างว่าไม่รู้เรื่อง ลูกหลานไปเล่นเองแล้วเกิดปัญหาเพียงอย่างเดียวก็คงจะไม่ได้ครับ การทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตหรือมือถือจะมีข้อความแจ้งให้ผู้ใช้ทราบเสมอ ไม่ว่าจะผ่านอีเมลหรือผ่าน SMS ดังนั้นจะปล่อยผ่าน ไม่อ่านไม่สนใจใดๆ รอจนเรื่องแดงแล้วค่อยออกมาร้องเรียน แบบนี้ผมก็ว่าไม่ใคร่จะถูกต้องนักเช่นกันครับ

งานนี้ถือเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย (โดยเฉพาะ AIS ที่เผลอปล่อยให้เกิดช่องโหว่ขึ้นในระบบ) และเป็นเรื่องที่สังคมต้องเรียนรู้ให้ “เท่าทัน” เทคโนโลยีกันต่อไปครับ

มาร์ค Blognone
------------------------------------------------------------------
ภาพและข่าว จาก http://www.thairath.co.th/content/432448
 

 
 


บริษัท ก.สมบูรณ์ จำกัด

168 หมู่ 5 ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม 73210
โทร : 02-8125317
แฟกซ์ : 02-8125110
E-mail : info@k-somboon.com, k.somboon168@gmail.com

(สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์ )

เพื่อการบริการ เพื่อการพัฒนา เพื่อความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม

เพื่อเรา เพื่อลูกค้า เพื่อคุณ


CopyRight © 2017 K.somboon All rights reserved.